งานศพ > ขั้นตอนงานฌาปนกิจ
งานฌาปนกิจ และการเก็บอัฐิ
การเตรียมการและขั้นตอนการทำบุญและการฌาปนกิจศพ ในการฌาปนกิจศพนั้น เมื่อถึงเวลาที่เจ้าภาพกำหนดแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ฌาปนสถานและออกบัตรเชิญ โดยกำหนดวันเวลาให้ผู้เคารพนับถือทราบทั่วกัน เมื่อเสร็จพิธีบําเพ็ญกุศลแล้วต้องเชิญศพไปสู่เมรุ โดยมีพระสงฆ์ชักศพหรือเดินนําหน้าศพ ส่วนบรรดาญาติจะเดินตามหลังศพไปโดยสงบยกเว้นญาติสนิทที่จะถือภาพของผู้ละสังขาร และกระถางธูปเดินนำหน้า ริ้วขบวนจะเวียนรอบเมรุเป็น “อุตราวัฏ” คือเวียนซ้ายทวนเข็มนาฬิกา 3 รอบ เมื่อศพผ่านมา ผู้ที่นั่งอยู่พึงลุกขึ้นยืนเพื่อแสดงความเคารพต่อศพนั้นด้วย หลังจากตั้งศพแล้วเป็นพิธีกล่าวสดุดีผู้ละสังขาร จากนั้นก่อนประชุมเพลิง เจ้าภาพจะเชิญแขกผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เป็นผู้ทอดผ้ามหาบังสุกุลที่หีบศพ บนสายสิญจน์หรือบนภูษาโยง ผู้ทอดผ้าคนสุดท้ายเป็นคนจุด “เพลิงศพหลอก” เป็นการขอขมาศพครั้งสุดท้ายก่อนเผาจริง โดยจะมีพระสงฆ์ 4 รูปสวดพระอภิธรรม หรือที่เรียกว่า“สวดหน้าไฟ” ในช่วงนั้น แขกที่มาในงานและญาติมิตรจะทยอยกันขึ้นมาเผาศพหรือขอขมาศพด้วยการวางดอกไม้จันทน์ธูป และเทียนตามที่เจ้าภาพเตรียมไว้เป็นชุด ๆ แล้วจึงลงจากเมรุพร้อมรับของที่ระลึกจากเจ้าภาพ เมื่อเผาหลอกเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ฌาปนสถานจะเคลื่อนศพไปยังเตาสําหรับเผาจริง ก่อนเผาจริง เจ้าหน้าที่เมรุหรือสัปเหร่อจะทุบหรือต่อยมะพร้าวห้าวที่ปอกเปลือกแล้วเพื่อให้กะลาแตก แล้วนำน้ำมะพร้าวมาล้างหน้าศพก่อน จากนั้นจึงเคลื่อนโลงศพเข้าเตาเผา (ปัจจุบัน วัดในกรุงเทพฯส่วนมากจะไม่มีการเปิดโลงในวันฌาปนกิจ)
ตัวอย่าง กำหนดการสวดพระอภิธรรม และฌาปนกิจ วัดธาตุทอง
กำหนดการสวดพระอภิธรรม และฌาปนกิจ
คุณพ่อ .......................................................
ณ. ศาลา...... วัดธาตุทอง พระอารามหลวง
1325 ถนนสุขุมวิท แขวง พระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร 10110 (BTS สถานี เอกมัย)
วัน.......... ที่ ... เดือน....... พ.ศ.......
เวลา 17.00 น. พิธีรดน้ำศพ
เวลา 18.30 น. สวดพระอภิธรรม
วัน.......... ที่ ... เดือน....... พ.ศ.......
เวลา 19.00 น. สวดพระอภิธรรม
วัน.......... ที่ ... เดือน....... พ.ศ.......
เวลา 19.00 น. สวดพระอภิธรรม
วัน.......... ที่ ... เดือน....... พ.ศ.......
เวลา 10.00 น. พระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา
เวลา 10.30 น. พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์
เวลา 11.00 น. ถวายภัตตาหารเพล
เวลา 12.00.น. พระสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล
เวลา 14.00.น. ฌาปนกิจ
วัน.......... ที่ ... เดือน....... พ.ศ.......
เวลา 8.00 น. พิธีเก็บอัฐิ
ขั้นตอนหลังจากการเวียนรอบเมรุในวันฌาปนกิจ
พิธีกร : กล่าวสวัสดีต้อนรับแขกผู้มร่วมงาน และแนะนำตัว พร้อมแจ้งกำหนดการ
1. อ่านประวัติผู้วายชนม์ โดย.............. (ถ้ามี)
2. บทกลอนไว้อาลัย (ถ้ามี)
3. ทอดผ้าบังสุกุลหน้าหีบศพบนเมรุ ตามลำดับ
4. พิธีกรเชิญประธานเผาหลอก ก่อนประชุมเพลิง
5. ประชุมเพลิง
ตัวอย่าง การอ่าน-เขียนประวัติผู้วายชนม์
ผู้อ่านประวัติ : กราบนมัสการพระคุณเจ้า ที่เคารพอย่างสูง กราบเรียนท่าน............ ประธานในพิธี และแขกผู้มีเกียรติ ที่เคารพรักทุกท่าน
กระผม/ดิฉัน ................ เป็น...... ของคุณพ่อ .............. จะมากล่าวประวัติย่อ พอเป็นสังเขป ครับ/ค่ะ
คุณพ่อ............ เกิดเมื่อ........... ที่จังหวัด.............. เป็นบุตรของ .............. มีพี่น้อง .......คน และสมรสกับ.......
ประวัติการศึกษาและการทำงาน
• ด้านการศึกษา
• ด้านการทำงาน
• การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ .. (ชมรม/เป็นสมาชิกของ ฯลฯ)
• อุปนิสัย...............................
• เกียรติประวัติ ผลงาน............
• สาเหตุ หรือ อาการก่อนเสียชีวิต และเสียชีวิตเมื่อ .................................................
คุณพ่อ............จะเป็นที่รักของพวกเรา และจะอยู่ในใจของพวกเราตลอดไปครับ/ค่ะ.
การจัดงานฌาปนกิจ มีการจัดเป็น 2 กรณี คือ
-
กำหนดแล้วการจัดพิธีฌาปนกิจศพหลังจากมีการสวดพระอภิธรรมครบวันตามที่เจ้าภาพ
-
การจัดพิธีฌาปนกิจศพ โดยการนำศพที่บรรจุไว้และรอโอกาสที่จะฌาปนกิจเมื่อมีความพร้อมหรือได้มีการปรึกษาหารือกันระหว่างญาติเพื่อจะทำพิธีฌาปนกิจ เมื่อถึงวันที่กำหนดจะทำพิธีฌาปนกิจ ให้เจ้าภาพจัดเตรียมเครื่องใช้ และดำเนินการ ดังนี้
การเตรียมการ (จัดพิธีฌาปนกิจศพหลังจากมีการสวดพระอภิธรรมครบจำนวนวัน)
-
จัดเตรียมนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป หรืออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 รูป สวดพระพุทธมนต์ แสดงพระธรรมเทศนา (พระสวดรับเทศน์ จะมีหรือไม่มีก็ได้) มีการสดับปกรณ์หรือบังสุกุลและก่อนที่จะเคลื่อนศพจากศาลาหรือสถานที่ตั้งศพไปยังฌาปนสถานหรือเมรุ มักนิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 10 รูป สวดมาติกา - บังสุกุล อีกครั้งหนึ่ง (แต่ในปัจจุบันมักนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาติกา - บังสุกุล หลังจากบำเพ็ญกุศลสวดพระพุทธมนต์ และพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลเสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำศพขึ้นตั้งบนเมรุทันที เพื่อความสะดวกในการที่เจ้าภาพจะได้กลับไปเตรียมตัว และคอยต้อนรับผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานในพิธีฌาปนกิจศพ)
-
จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
-
ผ้าไตรหรือผ้าสบงทอดถวายพระสงฆ์
-
เครื่องกัณฑ์เทศน์ถวายพระสงฆ์ที่แสดงพระธรรมเทศนา
-
ผ้าไตรที่จะใช้บนเมรุก่อนที่ประธานพิธีจะจุดไฟฌาปนกิจศพ
-
รายชื่อผู้ที่จะทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุ และผู้ที่จะเป็นประธานในพิธี
การเตรียมการ (จัดพิธีฌาปนกิจ โดยนำศพที่บรรจุไว้ทำการฌาปนกิจ)
-
จัดเตรียมเรื่องสถานที่หรือศาลาตั้งศพเพื่อบำเพ็ญกุศลกับทางวัด
-
นิมนต์พระสงฆ์
-
พิมพ์บัตรเชิญผู้ที่เคารพนับถือมาร่วมงานพิธี
-
อัญเชิญศพจากสุสานมาตั้งยังพิธีบำเพ็ญกุศลฌาปนกิจ 1 คืน
-
จตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์
-
ผ้าไตรบังสุกุลที่จะถวายพระสงฆ์
-
เครื่องกัณฑ์เทศน์เพื่อถวายพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา
-
ผ้าไตรที่จะใช้บนเมรุก่อนที่ประธานพิธีจะจุดไฟฌาปนกิจศพ
-
รายชื่อผู้ที่จะทอดผ้าบังสุกุลบนเมรุ และผู้ที่จะเป็นประธานในพิธี
แนวทาง หรือขั้นตอนในงานพิธีฌาปนกิจ
-
เจ้าหน้าที่นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสน์สงฆ์
-
ประธานพิธีหรือเจ้าภาพจุดธูป เทียน บูชาพระพุทธรูป ณ โต๊ะหมู่บูชา (กราบ 3 ครั้ง)
-
ประธานพิธีจุดธูปเทียนที่เครื่องทองน้อยหน้าหีบศพ (กรณีไม่มีการเทศน์) เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล
-
ประธานสงฆ์ให้ศีล ทุกคนรับศีล
-
เจ้าหน้าที่อาราธนาพระปริตร
-
พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ จบ
-
ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์
การจัดขบวนในการเวียนเมรุ
-
พระนำศพ 1 รูป
-
หีบศพ
-
เครื่องทองน้อย
-
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
-
ญาติมิตรผู้ร่วมขบวน
สำหรับการปฏิบัติในพิธีประชุมเพลิงศพนั้น เพื่อให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก่อนที่ประธานจะมาถึงในพิธี เจ้าหน้าที่พิธีพึงประสานกับเจ้าภาพเรียนเชิญผู้ที่มาเป็นเกียรติ ที่เคารพนับถือขึ้นทอดผ้าบังสุกุลให้แล้วเสร็จเสียก่อน เมื่อประธานมาถึงเรียนเชิญไปนั่งยังที่จัดเตรียมไว้ให้ประธาน จากนั้น เจ้าหน้าที่พิธีพึงอ่านประวัติของผู้วายชนม์ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณความดี จบแล้วเชิญผู้ร่วมพิธีฌาปนกิจศพยืนไว้อาลัยให้แก่ผู้วายชนม์ เป็นเวลาประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่พิธีพึงปฏิบัติ ดังนี้
-
เรียนเชิญประธานขึ้นทอดผ้าบังสุกุลที่หีบศพ
-
นิมนต์พระสงฆ์ขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุล
-
ประธานจุดไฟ เพื่อประชุมเพลิงศพ (ในการประชุมเพลิง ควรนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จำนวน 4 รูป เรียกว่า สวดหน้าไฟ)
ในพิธีการเก็บอัฐินิยมทำตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น จากวันฌาปนกิจศพเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะต้องเตรียมในพิธีเก็บอัฐิ
การเตรียมการ
-
โกศสำหรับใส่อัฐิ
-
ลุ้ง สำหรับใส่อัฐิ หรืออังคารที่เหลือ เพื่อนำไปลอยอังคาร
-
ผ้าขาว ควรจัดเตรียมไว้ ๒ ผืน สำหรับห่อลุ้งที่ใส่อังคาร
-
ผ้าไตร หรือผ้าสบง สำหรับทอดบังสุกุลก่อนเก็บอัฐิ
-
อาหารคาว - หวาน นิยมจัด 3 ชุด ที่เรียก พิธีสามหาบ เพื่อถวายพระสงฆ์ที่พิจารณาผ้าบังสุกุล
-
นิมนต์พระสงฆ์ จำนวน 3 รูป
-
เครื่องทองน้อย สำหรับเชิญเจ้าภาพจุดสักการบูชาอัฐิก่อนเก็บอัฐิใส่โกศ และนำอัฐิไปยังสถานที่ถวายภัตตาหาร จำนวน 3 รูป
-
ดอกไม้ (นิยมใช้กลีบดอกกุหลาบ) สำหรับโปรยเพื่อเป็นการสักการะอัฐิ
-
น้ำอบ น้ำหอม เพื่อพรมอัฐิ
-
เหรียญบาท เพื่อโปรยทาน ซึ่งถือเป็นการบริจาคทานแทนผู้วายชนม์ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่พิธีพึงจัดเตรียมสถานที่ เพื่อเชิญอัฐิไปตั้งและเรียนเชิญเจ้าภาพถวายภัตตาหาร 3 หาบแด่พระสงฆ์ หลังจากนั้นพระสงฆ์อนุโมทนา เจ้าภาพกรวดน้ำ - รับพร เป็นเสร็จพิธี
การเก็บอัฐิ
แนวทางการปฏิบัติงาน
-
ก่อนถึงกำหนดเวลาพิธีเก็บอัฐิ (นิยมจัดพิธีช่วงเช้า) เจ้าหน้าที่ฌาปนสถานจะทำพิธี แปรธาตุ คือ การนำอัฐิของผู้วายชนม์ออกมาจากเตาเผาแล้ว จัดเป็นโครงร่างของคน โดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก
-
ก่อนทำพิธีนิยมให้เจ้าภาพจุดเครื่องทองน้อย เพื่อสักการะอัฐิของผู้วายชนม์
-
เจ้าหน้าที่พิธีนำผ้าขาวคลุมอัฐิไว้
-
เชิญเจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล ครั้งละ 1 ไตร และนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุลครั้งละ 1 รูป จบครบ 3 รูป
-
พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลแล้ว ลงไปนั่งยังอาสน์สงฆ์ที่เจ้าหน้าที่พิธีได้จัดเตรียมไว้
-
เมื่อพระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุลแล้ว เจ้าหน้าที่พิธีเชิญเจ้าภาพพรมน้ำอบ และโปรยดอกไม้ที่อัฐิและอังคาร
-
เชิญเจ้าภาพเก็บอัฐิใส่โกศตามที่พอแก่ความต้องการ โดยเลือกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายดังนี้ กระดูกกะโหลกศีรษะ 1 ชิ้น กระดูกซี่โครงหน้าอก 1 ชิ้น กระดูกแขนทั้งสองข้างๆ ละ 1 ชิ้น และกระดูกขาทั้งสองข้างๆ ละ 1 ชิ้น
-
อัฐิที่เหลือรวมทั้งอังคาร (ขี้เถ้า) รวมเก็บห่อผ้าขาวใส่ลุ้ง หีบ หรือกล่อง แล้วนำห่อผ้าขาวให้เรียบร้อย
-
จากนั้นให้ญาติผู้วายชนม์ เชิญเครื่องทองน้อย 1 คน เชิญอัฐิ 1 คน เชิญลุ้งหรือกล่องอังคาร ลงไปพักยังศาลาบำเพ็ญกุศลพิธีเก็บอัฐิที่จัดเตรียมไว้
-
เชิญอัฐิไปประดิษฐานที่โต๊ะหมู่ตัวสูง และเครื่องทองน้อยประดิษฐานบนโต๊ะหมู่ตัวที่ตั้งอยู่ที่หน้าอัฐิที่ได้จัดเตรียมไว้
-
เชิญเจ้าภาพถวายภัตตาหารสามหาบแด่พระสงฆ์ (เป็นชุดสำรับคาว - หวาน หรือปิ่นโตใส่ภัตตาหารคาว - หวาน จำนวน 3 ชุด)
รับฟรี
แบบฟอร์มและคู่มือในการเตรียมงานศพ
การเตรียมการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ การขอพระราชทานเพลิงศพ
การขอรับหีบเพลิงพระราชทาน และขั้นตอนการปฏิบัติ
การขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
น้ำหลวงอาบศพที่ได้รับพระราชทาน
ส่วนกลาง มีน้ำ 3 ชนิด
-
น้ำเปล่า
-
น้ำขมิ้น
-
น้ำอบไทย
ส่วนภูมิภาค มีน้ำ 2 ชนิด
-
น้ำขมิ้น
-
น้ำอบไทย
หลักเกณฑ์ในการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
-
พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป และพระภิกษุสามเณร เปรียญธรรม 9 ประโยค
-
พระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น “หม่อมเจ้า” ขึ้นไป
-
ผู้ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
-
ข้าราชการตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป
-
ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ ยศชั้นร้อยตรี เรือตรี เรืออากาศตรี ร้อยตำรวจตรี ขึ้นไป
-
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ “เบญจมดิเรกคุณาภรณ์” (บ.ภ.) และ “เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย” (บ.ม.) ขึ้นไป
-
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “จุลจอมเกล้า”
-
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญ “รัตนาภรณ์” รัชกาลปัจจุบัน
-
ประธานองค์กรต่างๆ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และรัฐมนตรีที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
-
บิดาและมารดาของผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธาน วุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรต่างๆ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรี ที่ถึงแก่กรรม ในขณะบุตรดำรงตำแหน่ง
-
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ถึงแก่กรรม ในขณะดำรงตำแหน่ง
-
ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษ
หมายเหตุ บุคคลผู้ทำลายชีพตนเอง และผู้ต้องอาญาแผ่นดินไม่พระราชทานน้ำหลวง และเครื่องเกียรติยศประกอบศพ
ขั้นตอนการขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ เจ้าภาพหรือทายาทจะต้องจัดเตรียมและปฏิบัติ ดังนี้
-
จัดดอกไม้กระทง 1 กระทง
-
ธูปไม้ระกำ 1 ดอก
-
เทียน 1 เล่ม มีพานรองพร้อม
-
ลา พร้อมด้วยหนังสือกราบบังคมทูลลา
-
ใบมรณะบัตร
-
หลักฐานที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ
เจ้าภาพหรือทายาทนำสิ่งดังกล่าว 1 - 4 ไปกราบถวายบังคมลา โดยติดต่อที่ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวังตั้งแต่เวลา 08.30 ถึง 16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ พร้อมทั้งนำใบมรณะบัตร และหลักฐานที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ ไปแสดงแก่เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธีด้วย เพื่อการจัดชั้นของเครื่องเกียรติยศประกอบศพได้ถูกต้อง ส่วนพระสงฆ์สมณศักดิ์ ไม่ต้องมีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นหน้าที่ของกรมการศาสนา แจ้งการมรณภาพ และขอพระราชทาน
การสรง / อาบนน้ำศพให้ปฏิบัติดังนี้
-
การสรง/อาบน้ำหลวง ให้รดที่อกของศพ
-
การสรง/อาบน้ำหลวง ให้ปฏิบัติเป็นลำดับสุดท้าย
-
ศพฆราวาส ให้ยกศีรษะศพขึ้นเล็กน้อยเพื่อรับน้ำหลวง
การจัดสถานที่และลำดับขั้นตอนพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
-
ใกล้กำหนดเวลาเจ้าหน้าที่เชิญน้ำหลวงฯ มาถึง (เจ้าภาพรอรับ) แล้วเชิญไปตั้งไว้ที่โต๊ะด้านศีรษะของศพ
-
ได้เวลาเจ้าหน้าที่เชิญน้ำหลวงไปตั้งไว้ยังโต๊ะที่จัดเตรียมไว้
-
เมื่อได้เวลาตามที่กำหนดเชิญประธานประกอบพิธี
-
ประธานถวายความเคารพไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่
-
(ในส่วนกลาง) รับคณโฑน้ำเปล่ารดที่อกของศพ แล้วรดน้ำขมิ้นและน้ำอบไทย
-
(ในส่วนภูมิภาค) รดน้ำขมิ้น และน้ำอบไทยตามลำดับ
-
ทำความเคารพศพ เป็นเสร็จพิธี
การแต่งกาย
-
เจ้าหน้าที่เชิญน้ำหลวงฯ แต่งเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์
-
ประธานและผู้ร่วมพิธี แต่งเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ ชุด สากลไว้ทุกข์หรือชุดสุภาพไว้ทุกข์
การขอพระราชทานเพลิงศพ
ไฟพระราชทาน ประกอบด้วย
-
เทียนจุดไฟ พร้อมโคม (เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเป็นผู้อัญเชิญ)
-
พานเครื่องขมา และดอกไม้จันทน์พระราชทานเพื่อจุดไฟพระราชทาน
หีบพระราชทาน ประกอบด้วย
-
เทียนชนวน 1 เล่ม
-
ไม้ขีดไฟ 1 สลัก
-
ดอกไม้จันทน์ ธูปไม้ระกำ และเทียน 1 ชุด
การขอพระราชทานเพลิงศพจริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นการขอพระราชทานเพลิงศพกรณีปกติ
หรือเป็นกรณีพิเศษ ขั้นตอนการดำเนินการจะปฏิบัติลักษณะเดียวกัน และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
การขอพระราชทานเพลิงศพพระสมณศักดิ์ทั่วประเทศ เป็นภารกิจอำนาจหน้าที่ของ กรมการศาสนา โดยวัดที่มีความประสงค์จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพพระสมณศักดิ์ ต้องทำหนังสือผ่านเจ้าคณะจังหวัด หรือสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจะทำหนังสือในนามผู้ว่าราชการจังหวัดส่งไปยังกรมการศาสนา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนผ่านเลขาธิการพระราชวัง เมื่อทางสำนักพระราชวังดำเนินการเรียบร้อยแล้ว กรมการศาสนาจะรับหีบเพลิง
จากกองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง แล้วนำส่งให้จังหวัดทางไปรษณีย์ในนามผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อมอบให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดดำเนินการ
การขอพระราชทานเพลิงศพหน่วยราชการต่างๆ เจ้าภาพหรือทายาทผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพ จะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังกระทรวงเจ้าสังกัดของผู้ถึงแก่กรรม เพื่อให้เจ้าสังกัดทำเรื่องเสนอเลขาธิการพระราชวัง โดยระบุ
-
ชื่อ ตำแหน่ง ชั้น ยศ ของผู้ถึงแก่กรรม
-
ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด
-
ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อะไรบ้าง
-
มีความประสงค์จะขอรับพระราชทานเครื่องเกียรติยศประกอบศพ อย่างใดบ้าง
-
ประกอบการฌาปนกิจศพที่วัดไหน จังหวัดไหน วัน เวลาใด
การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ เจ้าภาพหรือทายาท ผู้ประสงค์ขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ ต้องทำหนังสือถึงเลขาธิการพระราชวัง โดยระบุ
-
ชื่อ - สกุล และประวัติโดยย่อของผู้ถึงแก่กรรม
-
ถึงแก่กรรมด้วยโรคอะไร ที่ไหน เมื่อใด
-
ระบุคุณงามความดีที่เป็นประโยชน์ แก่ประเทศชาติ หรือคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ การพิจารณาการขอพระราชทาน เพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ
-
ระบุวัน เวลา สถานที่ที่จะประกอบการฌาปนกิจ
กรณีที่เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา จะต้องทำเรื่องผ่านมายัง กรมการศาสนา เพื่อทำหนังสือประกอบความเห็นไปยังเลขาธิการพระราชวังด้วย
หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการขอพระราชทานเพลิงศพ เป็นกรณีพิเศษ มีดังนี้.-
-
ใบมรณบัตร ของผู้ถึงแก่กรรม
-
ทะเบียนบ้านของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม
-
บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรข้าราชการ ของทายาทของผู้ถึงแก่กรรม
-
หนังสือรับรองจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ใบอนุโมทนาบัตร ใบประกาศเหรียญกล้าหาญหรือเหรียญชัยสมรภูมิ
ทั้งนี้ ต้องนำเอกสารต้นฉบับและสำเนาแนบมาพร้อมกับหนังสือด้วย
หลักเกณฑ์การขอพระราชทานเพลิงศพ
ผู้มีสิทธิได้รับพระราชทานน้ำหลวง เพลิงหลวง และหีบเพลิง ต้องมีตำแหน่งชั้น และยศ ดังต่อไปนี้
-
พระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป และพระภิกษุ สามเณร เปรียญ 9 ประโยค
-
พระราชวงศ์ ตั้งแต่ชั้น “หม่อมเจ้า” ขึ้นไป
-
ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์
-
ข้าราชการพลเรือน ตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไป
-
ข้าราชการฝ่ายทหาร ตำรวจ ยศชั้นร้อยตรีขึ้นไป
-
ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตั้งแต่ “เบญจมดิเรกคุณาภรณ์” (บ.ภ.) และ “เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย” (บ.ม.) ขึ้นไป
-
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “จุลจอมเกล้า” (จ.จ.) หรือ “ตราสืบตระกูล” (ต.จ.) ขึ้นไป
-
ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญ “รัตนาภรณ์” รัชกาลปัจจุบัน
-
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาจังหวัด สมาชิกสภาเทศบาล ที่ถึงแก่กรรมในขณะดำรงตำแหน่ง
-
รัฐมนตรี
-
ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นกรณีพิเศษ
หลักเกณฑ์การขอพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ
ผู้ที่สมควรได้รับการพิจารณา ในการขอพระราชทานเพลิงศพกรณีเป็นพิเศษ ควรอยู่ในหลักเกณฑ์ ดังนี้
-
ผู้ที่อยู่ในราชสกุล ชั้นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง
-
พนักงานรัฐวิสาหกิจระดับสูง
-
ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ เหรียญกล้าหาญ และเหรียญชัยสมรภูมิ
-
ผู้ที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เช่น ศิลปินแห่งชาติ นักกีฬาระดับชาติ อดีตสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภาจังหวัด หรืออดีตสมาชิกสภาเทศบาล
-
ผู้ทำคุณประโยชน์ เช่น บริจาคเพื่อการกุศลคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 500,000 บาท บริจาคร่างกาย หรืออวัยวะ
-
บิดามารดาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับ 6 ขึ้นไป หรือเทียบเท่าขึ้นไป
-
บิดามารดาของผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ตริตราภรณ์ช้างเผือก” (ต.ช.) ขึ้นไป
-
บิดามารดาของพระสมณศักดิ์ ตั้งแต่ชั้น “พระครูสัญญาบัตร” ขึ้นไป
-
บิดามารดาของข้าราชการทหาร ตำรวจ ตั้งแต่ระดับพันโท นาวาโท นาวาอากาศโท และพันตำรวจโทขึ้นไป
หมายเหตุ บุคคลผู้ทำลายชีพตนเอง และผู้ต้องอาญาแผ่นดินไม่พระราชทานเพลิง และเครื่องประกอบเกียรติยศ
ข้อกำหนดของกองพระราชพิธี
-
ผู้มีสิทธิได้รับพระราชทานเพลิงศพ ถ้าจะพระราชทานในต่างจังหวัด (นอกเขตรัศมี 50 ก.ม. จากพระบรมมหาราชวัง) ยกเว้นปริมณฑล ใกล้กรุงเทพฯ ทางสำนักพระราชวังจะได้จัดหีบเพลิง ให้กระทรวงเจ้าสังกัดรับส่งไปพระราชทานเพลิง หรือให้เจ้าภาพศพไปติดต่อขอรับหีบเพลิงพระราชทานที่กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง
-
กรณีพระราชทานเพลิงศพ ทั้งตามเกณฑ์ที่ได้รับพระราชทานและกรณีพิเศษ ที่ไม่มีเครื่องเกียรติยศประกอบศพในกรุงเทพฯ ทางสำนักพระราชวัง จะได้จัดเจ้าพนักงานเชิญเพลิงหลวงไปพระราชทานโดยรถยนต์หลวง ทั้งนี้ เจ้าภาพไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ยกเว้นกรณีปริมณฑลในรัศมี 50 กิโลเมตร จากพระบรมมหาราชวัง เจ้าภาพจะต้องจัดรถรับ-ส่งให้กับเจ้าหน้าที่เชิญเพลิงด้วย
-
สำหรับเครื่องประกอบเกียรติยศได้แก่หีบ โกศ ฉัตรตั้ง นั้น ทางสำนักพระราชวังจะได้ เชิญไปประกอบและตั้งแต่งไว้มีกำหนดเพียง 7 วัน เมื่อพ้นไปแล้ว เจ้าภาพหรือทายาทยังไม่กำหนด พระราชทานเพลิง ถ้าทางราชการมีความจำเป็น ก็จะถอนส่วนประกอบลองนอกของหีบหรือโกศไปใช้ในราชการต่อไป
-
ในการพระราชทานเพลิงนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่เชิญเพลิงพระราชทาน หรือเจ้าภาพเชิญ หีบเพลิงไปถึงมณฑลพิธี ในการนี้ห้ามเปิดหรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เนื่องจากเป็นการไม่เหมาะสม
-
เจ้าภาพงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อจะขอรับหมายรับสั่ง ให้ติดต่อขอรับได้ที่ เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี โทรศัพท์ 02-224-4747 ต่อ 4501
-
ก่อนงานพระราชทานเพลิงศพ 1 วัน ให้เจ้าภาพติดต่อยืนยันความถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ กองพระราชพิธี ที่หมายเลข 02-222-2735 (เฉพาะเพลิงที่เชิญโดยเจ้าหน้าที่)
-
หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ 02-221-0873 กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง โทร. 02-221-0873, 02-221-7182, 02-222-2735
ตัวอย่าง แนวปฏิบัติงานในการพระราชทานเพลิงศพ
วิธีปฏิบัติในการพระราชทานเพลิงศพในกรุงเทพมหานคร และรัศมี 50กิโลเมตร
เวลา...................น.
- รถยนต์รับพนักงานพระราชพิธีเชิญเพลิงหลวงพระราชทานออกจากพระบรมมหาราชวัง
เวลา...................น.
- เจ้าภาพตั้งแถวรอรับเพลิงหลวงพระราชทานตามความเหมาะสมกับสถานที่
เวลา...................น.
- พนักงานพระราชพิธีเชิญเพลิงหลวงลงจากรถยนต์ และยืนอยู่กับที่
- พนักงานพระราชพิธีเชิญเพลิงหลวงพระราชทานขึ้นสู่เมรุ
- เจ้าภาพเดินตาม และหยุดที่หน้าบันไดเมรุ
- พนักงานพระราชพิธีเชิญเครื่องขมาศพ และเพลิงหลวงพระราชทานวางที่โต๊ะ
- พนักงานพระราชพิธีคำนับศพ แล้วลงจากเมรุ
- พนักงานอ่านหมายรับสั่ง อ่านสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อ่านคำประกาศ เกียรติคุณของผู้ที่ได้รับพระราชทานเพลิง (ประวัติโดยย่อ) จบแล้ว
- พิธีกรเชิญผู้มีเกียรติที่มาในงานพระราชทานเพลิงศพ ยืนสงบนิ่งไว้อาลัย 1 นาที
- เจ้าภาพเชิญผู้เป็นประธานในการพระราชทานเพลิงศพขึ้นเมรุ
- ประธานพิธีทอดผ้าบังสุกุล
- (ในกรณีทอดผ้าไตรบังสุกุล ถ้าผ้าไตรบังสุกุลเป็นของหลวงพระราชทาน พระสงฆ์ต้องใช้พัดยศขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุล แล้วลงจากเมรุ)
- ประธานในพิธีฯ หันหน้าไปทางทิศที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับ
- ถวายคำนับ
- หยิบกระทงข้าวตอก กระทงดอกไม้จากพนักงานพระราชพิธีวางที่ฐานฟืน หน้าหีบศพ
- แล้วหยิบดอกไม้จันทน์จากพนักงานพระราชพิธี จุดเพลิงพระราชทานจาก โคมไฟที่เจ้าพนักงานพระราชทานถือ
- เชิญไฟสอดวงลงใต้กองฟืน ลงจากเมรุ
- พระสงฆ์ขึ้นเมรุเผาศพก่อน แล้วแขกผู้มีเกียรติกับบรรดาญาติมิตร ขึ้นเมรุตามลำดับ
- พนักงานพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เดินทางกลับ
หมายเหตุ
1) จัดโต๊ะหมู่ตัวสูง 1 ตัว ปูผ้าขาว ตั้งด้านศีรษะศพ สำหรับวางเครื่องขมาศพ และวางโคมไฟหลวง
2) จัดเตรียมโคมไฟสำหรับต่อเลี้ยงเพลิงพระราชทานจากพนักงานพระราชพิธีนำไป รักษาไว้ เพื่อใช้พระราชทานเพลิงศพเมื่อถึงเวลาเผาจริง
3) ในกรณีทหาร ตำรวจ ที่ได้กองเกียรติยศ เมื่อประธานวางกระทง ข้าวตอก กระทงดอกไม้ เครื่องขมาแล้ว ให้เป่าแตรนอน จบแล้ว
4) เมื่อประธานหยิบธูปเทียน ดอกไม้จันทน์ ให้บรรเลงเพลงเคารพศพ ต่อไฟพระราชทาน จากโคมไฟแล้ว วางไว้ใต้กองฟืน เพื่อเป็นการพระราชทานเพลิงศพ
5) เมื่อเจ้าหน้าที่เชิญเพลิงพระราชทาน หรือเชิญหีบเพลิงพระราชทานไปถึงมณฑลพิธี ห้ามเปิดหรือบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีในการพระราชทานเพลิงศพ
6) กรณีพระราชทานเพลิงศพ โดยการเชิญเพลิงของเจ้าหน้าที่ให้เจ้าภาพติดต่อเจ้าหน้าที่งานพิธีการ เพื่อยืนยันก่อนวันพระราชทานเพลิงศพ 1 วัน ในการขอพระราชทานเพลิงศพนั้นจะต้องไม่ตรงกับ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัว วันเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติพระราชพิธีฉัตร (และประเพณีนิยมไม่เผาศพในวันศุกร์)
การขอรับหีบเพลิงพระราชทาน
การปฏิบัติเกี่ยวกับหีบเพลิงพระราชทาน (ระยะทางห่างจากสำนักพระราชวังเกิน 50 กิโลเมตร) ตามระเบียบที่สำนัก พระราชวังได้วางไว้ เมื่อกระทรวงเจ้าสังกัด ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเจ้าภาพ แล้วแต่กรณี ได้มีหนังสือแจ้งมายังสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานเพลิงศพ หากศพนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานเพลิงศพ สำนักพระราชวังจะได้มีหนังสือแจ้งให้ เจ้าภาพศพเพื่อทราบ จากนั้นเจ้าภาพศพหรือเจ้าหน้าที่ของจังหวัดแล้วแต่กรณีให้ส่งเจ้าหน้าที่ไปขอรับ
หีบเพลิงพระราชทานได้ที่ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง เมื่อได้รับหีบเพลิงพระราชทานไปแล้ว ต้องปฏิบัติตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
-
เชิญหีบเพลิงพระราชทานไปวางที่ศาลากลางจังหวัด อำเภอ หรือหน่วยราชการที่สังกัด ในท้องถิ่น หรือที่บ้านเจ้าภาพ แล้วแต่กรณี โดยตั้งไว้ในที่อันสมควร และควรมีพานรองรับหีบเพลิงพระราชทานนั้นด้วย
-
เมื่อถึงกำหนดวันที่ขอพระราชทานเพลิงศพ ทางจังหวัด อำเภอ หรือเจ้าภาพ แล้วแต่กรณี จะต้องจัดเจ้าหน้าที่ แต่งเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ เพื่อเชิญหีบเพลิงพระราชทานพร้อมด้วยพานรอง (หนึ่งหีบต่อ 1 คน) ไปยังเมรุที่จะประกอบพิธี และก่อนที่จะเชิญขึ้นไปตั้งบนเมรุนั้นควรยกศพขึ้นตั้งเมรุให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงเชิญพานหีบเพลิงพระราชทานขึ้นไปตั้งไว้บนโต๊ะทางด้านศีรษะศพ (บนโต๊ะที่ตั้งหีบเพลิงพระราชทานนั้นจะต้องมีผ้าปูให้เรียบร้อย และห้ามมิให้นำสิ่งหนึ่ง สิ่งใดวางร่วมอยู่ด้วยเป็นอันขาด เมื่อเชิญพานหีบเพลิงพระราชทานวางเรียบร้อยแล้ว ให้ผู้เชิญคำนับเคารพศพ 1 ครั้ง (แต่ถ้าเป็นศพพระสงฆ์ให้ประนมมือไหว้) แล้วจึงลงจากเมรุ
-
ขณะที่เชิญพานหีบเพลิงพระราชทานไปนั้น เจ้าหน้าที่ผู้เชิญจะต้องระมัดระวังกิริยา มารยาท โดยอยู่ในอาการสำรวม ไม่พูดคุยกับผู้ใด และไม่ต้องทำความเคารพผู้ใด และไม่เชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินตามหลังผู้หนึ่งผู้ใดเป็นอันขาด
-
ผู้ที่ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพ ทั้งประชาชน ข้าราชการ และพนักงานลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ ควรแต่งกายไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม ในกรณีลูกหลานหรือญาติ รวมทั้งผู้ที่เคารพนับถือ ผู้วายชนม์ที่รับราชการ จะแต่งกายชุดปกติขาว ไว้ทุกข์ ก็จะเป็นเกียรติแก่ผู้วายชนม์ และยังนับว่าเป็นการถวายพระเกียรติ
-
ผู้ที่ตั้งแถวรอรับการเชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุ ควรเป็นเจ้าภาพงาน การแต่งกาย ควรแต่งเครื่องแบบไว้ทุกข์ตามประเพณีนิยม ในกรณีที่เป็นข้าราชการ แต่งกาย เครื่องแบบปกติขาว ไว้ทุกข์
-
ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เชิญหีบเพลิงพระราชทานเดินไปสู่เมรุนั้น ประชาชนที่มาร่วมงาน ควรนั่งอยู่ในความสงบโดยมิต้องยืนขึ้น ไม่ต้องทำความเคารพ และไม่มีการบรรเลงเพลงอย่างใด ทั้งสิ้น เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนของพิธีการ เจ้าหน้าที่ผู้เชิญก็มิใช่ผู้แทนพระองค์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
-
เมื่อถึงกำหนดเวลาพระราชทานเพลิง ให้เจ้าภาพเชิญแขกผู้อาวุโสสูงสุด ขึ้นเป็นประธานจุดเทียน ประธานในพิธีจุดเพลิงที่อาวุโสสูงสุดนั้น หมายถึง อาวุโสทั้งด้านคุณวุฒิและด้านวัยวุฒิ ทั้งนี้ หากมีพระราชวงศ์ตั้งแต่ขั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป หรือราชสกุลที่มีเกียรติในราชการ ซึ่งศพหรือ ทายาทอยู่ใต้บังคับบัญชา หรือเป็นผู้ที่เคารพนับถือ สมควรเชิญบุคคลนั้นเป็นประธาน
-
ในระยะเวลาก่อนเจ้าภาพเชิญผู้อาวุโสสูงสุดขึ้นเป็นประธานประกอบพิธีพระราชทานเพลิงนั้นให้เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงพระราชทานขึ้นไปรออยู่ ณ โต๊ะวางหีบเพลิงพระราชทานบนเมรุก่อนเมื่อผู้เป็นประธานทอดผ้าไตรบังสุกุล พระภิกษุได้ชักผ้าบังสุกุลแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงพระราชทานแก้ห่อหีบเพลิงพระราชทานออก จากนั้นผู้เป็นประธานปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
-
ประธานพิธีเดินขึ้นไปบนเมรุ
-
ทอดผ้าไตรบังสุกุล
-
พระสงฆ์พิจารณาผ้าไตรบังสุกุล
-
ประธานพิธีหันหน้าไปทางทิศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ถวายคำนับ 1 ครั้ง
-
หยิบเทียนชนวนในหีบเพลิงพระราชทาน มอบให้เจ้าหน้าที่ผู้เชิญถือไว้
-
หยิบกลักไม้ขีดในหีบเพลิงพระราชทาน จุดไฟต่อเทียนชนวนที่เจ้าหน้าที่ผู้เชิญถือไว้
รอจนเทียนลุกไหม้ดีแล้ว -
ทำความเคารพ (ไหว้) 1 ครั้ง ก่อนหยิบธูป ดอกไม้จันทน์ และเทียนพระราชทาน
(จำนวน 1 ชุด) ในหีบเพลิงพระราชทาน -
จุดไฟหลวงจากเทียนชนวนแล้ววางไว้กลางฐานที่ตั้งศพ จากนั้นก้าวถอยหลัง 1 ก้าว คำนับเคารพศพ 1 ครั้ง แล้วลงจากเมรุ
-
เป็นอันเสร็จพิธี
หมายเหตุ
1) สำหรับศพที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าไตรทอด ถวายพระบังสุกุลด้วยนั้น ผู้เป็นประธาน ต้องทำความเคารพ (ไหว้) 1 ครั้ง ก่อนหยิบผ้าไตรพระราชทานจากเจ้าหน้าที่ผู้เชิญแล้วทอดผ้าตามพิธีต่อไป
2) ในกรณีที่เจ้าภาพประสงค์ให้มีการอ่านหมายรับสั่ง เพื่อแสดงถึงการได้รับ พระราชทาน
เพลิงศพ (ในกรณีที่ได้รับหมายรับสั่ง ถ้ายังไม่ได้รับหมายรับสั่งก็ไม่ต้องอ่าน)
การอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณนั้นส่วนสำนักพระราชวังให้แนวทางไว้ ดังนี้
-
หมายรับสั่ง แสดงถึงการได้รับพระราชทานเพลิงศพ
-
ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อประกาศเกียรติคุณ
-
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
อนึ่ง สำนักพระราชวัง ได้หมายเหตุไว้ว่า การอ่านหมายรับสั่ง ประวัติผู้วายชนม์ สำนึกพระมหากรุณาธิคุณนั้น เป็นขั้นตอนที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ตามความเหมาะสมในที่นี้ ขอนำเสนอขั้นตอนการอ่านหมายรับสั่งไว้เพื่อประกอบการพิจารณา ดังนี้
-
หมายรับสั่ง แสดงถึงการได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับการพระราชทานเพลิงศพ
-
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
-
ประวัติผู้วายชนม์ เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณ แล้วยืนไว้อาลัย 1 นาที จากนั้น
เรียนเชิญประธานพิธี ขึ้นทอดผ้าบังสุกุล และจุดเพลิงพระราชทาน ซึ่งจะเป็นการปฏิบัติงานพิธีได้ อย่างต่อเนื่อง และเรียบร้อยสวยงาม
ตัวอย่าง คำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในงานพระราชทานเพลิงศพ
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ (สำหรับบุคคลทั่วไป)
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเพลิงศพ
(นาย, นาง, นางสาว, ยศ).........................................................ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม เป็นเกียรติอันสูงสุดแก่ผู้วายชนม์ และวงศ์ตระกูล อย่างหาที่สุดมิได้หากความทราบโดยญาณวิถี ถึงวิญญาณของ (นาย, นาง, นางสาว, ยศ).............................. ได้ด้วยประการใดในสัมปรายภพ คงมีความปลาบปลื้มซาบซึ้งเป็นล้นพ้น ในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศอันสูงยิ่ง ในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
ข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นบุตร ธิดา และหลาน ๆ ขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาส กราบถวายบังคมแทนเบื้องพระยุคคลบาท ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้และจะเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เป็นสรรพสิริมงคลแก่ข้าพระพุทธเจ้าและวงศ์ตระกูลสืบไปด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า ครอบครัว (นามสกุล).................................................
ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีพระราชทานเพลิง (หีบเพลิง)
-
ใกล้เวลา เจ้าหน้าที่เชิญหีบเพลิงพระราชทานมาถึง (เจ้าภาพรอต้อนรับ) นำหีบเพลิงขึ้นตั้งบนเมรุด้านศีรษะของศพ
-
ได้เวลา เจ้าภาพเชิญประธานทอดผ้าบังสุกุล (พระสงฆ์บังสุกุล)
-
เจ้าหน้าที่เชิญหีบเพลิงพระราชทาน
-
ประธานถวายความเคารพไปทางทิศที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ หรือถวายบังคม(ไหว้) ไปที่หีบเพลิง แล้ว
-
หยิบเทียนชนวนในหีบเพลิงพระราชทานมอบให้เจ้าหน้าที่ถือไว้
-
หยิบกลักไม้ขีดไฟ จุดไฟต่อเทียนชนวนให้ติดดี
-
ถวายบังคม (ไหว้) 1 ครั้ง ก่อนหยิบดอกไม้จันทน์ ธูป เทียน จุดไฟหลวงจากเทียนชนวน
-
วางดอกไม้จันทน์ ธูป เทียนไว้ใต้กลางฐานที่ตั้งศพ (หรือที่ที่เจ้าภาพจัดไว้)
-
ถอยหลัง 1 ก้าว ทำความเคารพศพ 1 ครั้ง แล้วลงจากเมรุ เป็นเสร็จพิธี (จากนั้นผู้มีเกียรติและเจ้าภาพขึ้นวางดอกไม้จันทน์เป็นลำดับไป)
ลำดับการอ่านประกาศเกียรติยศ ในพิธีพระราชทานเพลิงศพ
-
หมายรับสั่ง (ถ้ายังไม่ได้รับไม่ต้องอ่าน)
-
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
-
ประวัติผู้วายชนม์
หมายเหตุ-
จะอ่านเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่อ่านเลยก็ได้
-
ไม่ควรใช้คำนำหน้าชื่อผู้ได้รับพระราชทานเพลิงศพว่า คุณพ่อ....... คุณแม่.......
-
ควรใช้ว่า นาย...... นาง...... นางสาว...... หรือยศ นำหน้าชื่อ เท่านั้น
-
การแต่งกาย
-
เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงพระราชทาน แต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์
-
ประธาน แต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์ ชุดสากลไว้ทุกข์ หรือชุดสุภาพสำหรับงานศพ
-
เจ้าภาพ ถ้าเป็นข้าราชการควรแต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์ ชุดสากลไว้ทุกข์หรือชุดสุภาพสำหรับงานศพ
การขอพระราชทานดินฝังศพ
เกณฑ์การขอพระราชทานดินฝังศพ
-
มีเกณฑ์การขอเช่นเดียวกับการขอพระราชทานเพลิงศพ
-
ขอพระราชทานได้ทั้งผู้นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม
ดินฝังศพพระราชทาน
-
ในหีบประกอบด้วยดิน 20 ก้อน ห่อด้วยผ้าขาว 10 ก้อน ห่อด้วยผ้าดำ 10 ก้อน
-
การหยิบดินพระราชทาน ให้หยิบทีละคู่ คือสีขาว 1 ก้อน และสีดำ 1 ก้อน
-
การวางดินพระราชทาน ให้วางบนหลังหีบศพตั้งแต่ด้านศีรษะศพลงไปจนครบทั้ง 10 คู่
วิธีปฏิบัติในพิธีพระราชทานดินฝังศพ
-
ใกล้เวลา เจ้าหน้าที่เชิญหีบดินฝังศพพระราชทานถึงสถานที่ตั้งศพ (เจ้าภาพรอต้อนรับ)
เชิญหีบดินตั้งไว้ด้านศีรษะของศพ ทำความเคารพศพ -
เจ้าภาพทำพิธีเคารพศพเสร็จแล้ว (ถ้ามีการอ่านประกาศเกียรติยศ อ่านในลำดับนี้)
-
เชิญหีบศพไปที่หลุมฝังศพ ทำพิธีเคารพศพเป็นครั้งสุดท้าย
-
เชิญหีบศพลงวางในหลุม
-
เจ้าหน้าที่เชิญหีบดินพระราชทาน
-
ประธานถวายความเคารพไปทางทิศที่ สมเด็จเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ หยิบห่อดินพระราชทานสีขาว - สีดำ ครั้งละ 1 คู่ วางเรียงบนหลังหีบศพจากทางด้านศีรษะของศพลงไปจนครบทั้ง 10 คู่
-
ทำความเคารพศพ 1 ครั้ง
-
ผู้มีเกียรติ ญาติและเจ้าภาพวางดินฝังศพ
-
เสร็จพิธี
การแต่งกาย
-
เจ้าหน้าที่ผู้เชิญหีบเพลิงพระราชทาน แต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์
-
ประธาน แต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์ ชุดสากลไว้ทุกข์ หรือชุดสุภาพสำหรับงานศพ
-
เจ้าภาพ ถ้าเป็นข้าราชการควรแต่งชุดปกติขาวไว้ทุกข์ ชุดสากลไว้ทุกข์หรือชุดสุภาพ สำหรับงานศพ