top of page

Plan - Ceremony - Memorial

FUNERAL PLANS  (ฟิวเนอรัล-แพลน)

เราขอร่วมแสดงความเสียใจ หากท่านได้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่เคารพรัก " ด้วยความจริงใจ "

  • วางแผนการจัดงานศพอย่างชาญฉลาด และมีเอกลักษณ์

  • สร้างความทรงจำ และเกียรติยศอันทรงคุณค่า

งานศพ > ขั้นตอนการสวดพระอภิธรรม

ขั้นตอนการสวดพระอภิธรรม

จำนวนวันสวดพระอภิธรรม ควรมีกี่วัน

การบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรมประจำคืน นิยมเริ่มจัดพิธีสวดพระอภิธรรมตั้งแต่วันตั้งศพเป็นต้นไปทุกคืน จนครบ 7 วัน แต่จะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรม 3 คืน หรือ 5 คืน ก็ได้ ตามความสะดวกของผู้เป็นเจ้าภาพ

เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

การเป็นเจ้าภาพ/จัดงานศพ อาจจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นได้ตั้งแต่หลักหมื่น จนถึง หลักล้าน ซึ่งจะขึ้นกับรายละเอียดต่างๆ เช่น ประเภทของพิธี ชนิดของโลงศพ ดอกไม้ประดับหีบศพ ของชำร่วย จำนวนแขกที่มาร่วมงาน อาหารเลี้ยงรับรอง เป็นต้น (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ)

 

สวดอภิธรรม เริ่มกี่โมง

เวลาที่พระสงฆ์เริ่มสวดพระอภิธรรมตามปกติในแต่ละคืน ส่วนมากพระสงฆ์จะเริ่มสวดเวลาประมาณ 18.30 น. ซึ่งอาจจะใช้เวลาสวดแตกต่างกัน โดยที่เร็วที่สุดประมาณ 30 นาที หรือ อย่างช้าก็ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ขึ้นกับแต่ละที่

ขั้นตอนการสวดพระอภิธรรม มีอะไรบ้าง

สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติในพิธีการสวดพระอภิธรรม เมื่อถึงกำหนดเวลาตามประเพณนิยมหรือตามที่วัดกำหนด ให้พึงปฏิบัติดังนี้

  1. นิมนต์พระสงฆ์ 4 รูป ขึ้นนั่งยังอาสนสงฆ์ ถวายน้ำร้อน - น้ำเย็น

  2. เชิญเจ้าภาพหรือประธานหรือผู้แทนในพิธีสวดพระอภิธรรมประจำคืน โดยจุดธูป เทียนบูชาพระรัตนตรัย จุดธูป เทียนบูชาพระธรรม และจุดเครื่องทองน้อยหน้าศพ ตามลำดับ

  3. ศาสนพิธีกรอาราธนาศีล ทุกคนรับศีล

  4. พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม (ศาสนพิธีกรต้องประสานกับพระสงฆ์ แม้ในปัจจุบัน ไม่นิยมอาราธนาธรรม แต่ยังมีบางท้องถิ่นเมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรม จะต้องมีการอาราธนาธรรมด้วย)

  5. พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบ ครบ 4 จบ ศาสนพิธีกรนำตู้พระธรรมและเครื่องสักการะ ถอยออกมาทางท้ายอาสน์สงฆ์

  6. นำเครื่องไทยธรรม เข้าไปตั้ง ณ เบื้องหน้าพระสงฆ์

  7. เชิญเจ้าภาพ หรือประธาน หรือผู้แทน ถวายเครื่องไทยธรรม

  8. เมื่อพระสงฆ์รับเครื่องไทยธรรมแล้ว ให้นำเครื่องไทยธรรมออกมาไว้ด้านท้ายอาสน์สงฆ์ เพื่อจะได้ถวายพระสงฆ์ เมื่อเสร็จพิธี

  9. ศาสนพิธีกรลาดภูษาโยง (เป็นหน้าที่ของศาสนพิธีกร)

  10. เชิญผ้าไตร หรือผ้าสบง ให้เจ้าภาพหรือประธานทอดบนภูษาโยง ในลักษณะขวางภูษาโยง

  11. พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล

  12. พระสงฆ์อนุโมทนา

  13. เจ้าภาพ หรือประธาน กรวดน้ำ - รับพร

  14. เสร็จพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมประจำคืน

คํากล่าวขอบคุณในงานสวดอภิธรรม

ขอบพระคุณ ทุกท่านที่กรุณามาร่วมไว้อาลัย หากมีสิ่งใด ขาดตกบกพร่องประการใด ในนามเจ้าภาพขอกราบอภัยเป็นอย่างมากไว้ ณ โอกาสนี้ 
ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายมี ตลอดถึงคุณความดีที่เราทั้งหลายได้มาร่วมกระทำบำเพ็ญในวันนี้  ได้โปรดดลบันดาลให้ทุกท่านและครอบครัว  จงประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป เทอญ

การเตรียมการสวดพระอภิธรรม ได้แก่ การจัดเตรียมสถานที่ การจัดเตรียมอุปกรณ์ การจัดเตรียมบุคลากร การจัดเตรียมกำหนดการ หากเป็นพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมจะนิมนต์พระสงฆ์ สวดพระอภิธรรม จำนวน 4 รูป (จำนวนพระสงฆ์ที่นิยมในแต่ละพิธีนั้นคือ ไม่ต่ำกว่า 5 รูป (นิยมเป็นเลขคี่) เพื่อจะได้ครบองค์คณะสงฆ์ส่วนงานพระราชพิธี หรือพิธีของทางราชการนิยมนิมนต์พระสงฆ์ 10 รูป ทั้งงานมงคลและงานอวมงคล) และทั้งนี้จะต้องเตรียมสิ่งของสำหรับพิธีดังนี้

 

อุปกรณ์หลักที่ใช้ในงานศาสนพิธี

  • โต๊ะหมู่บูชา, พระพุทธรูป, แท่นกราบ

  • แจกันดอกไม้ หรือ พานพุ่ม

  • กระถางธูป, เชิงเทียน

  • ธูป เทียน บูชาพระ

  • เทียนชนวน

  • ที่กรวดน้ำ

  • สำลี กรรไกร เชื้อชนวน (น้ำมันเบนซิน + เทียนขี้ผึ้ง) ธูป เทียน

  • ใบปวารณา และจตุปัจจัยไทยธรรม

  • เครื่องขยายเสียงพร้อมอุปกรณ์

  • เครื่องรับรองพระสงฆ์ เช่น น้ำร้อน น้ำเย็น อาสนะหรือพรมนั่ง เสื่อ หมอนพิง

  • กระดาษเช็ดมือ กระโถน

อุปกรณ์เพิ่มเติมสำหรับ พิธีสวดพระอภิธรรม

  • ภูษาโยง (ถ้าศพมีฐานันดรศักดิ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ต้องเตรียมผ้าขาว 
    กว้างประมาณ 10 หรือ 12 นิ้ว ยาวเสมอกับแถวพระสงฆ์ จำนวน 1 ผืน เรียกว่า “ผ้ารองโยง”) ถ้าไม่มีให้ใช้ แถบทอง หรือสายโยง แทนก็ได้

  • เครื่องทองน้อย 1 - 2 ที่ (ตั้งหน้าหีบศพ)

  • ตู้พระอภิธรรม พร้อมโต๊ะตั้งตู้พระอภิธรรม

  • ผ้าไตร หรือผ้าสำหรับทอดบังสุกุล

  • เครื่องกะบะบูชาพระอภิธรรม (ในกรณีไม่มีเครื่องกะบะบูชา ให้ใช้ เชิงเทียน 1 คู่ แจกันดอกไม้ 1 คู่ และกระถางธูป 1 กระถาง ตั้งหน้าตู้พระอภิธรรมแทนเพื่อจุดบูชา)

 

อุปกรณ์เพิ่มเติมสำหรับ พิธีพระราชทานเพลิงศพ หรือฌาปนกิจศพ (อุปกรณ์เพิ่มจากการสวดพระอภิธรรม)

  • ธรรมาสน์เทศน์ คัมภีร์เทศน์ พัดรอง ตะลุ่ม พาน

  • เครื่องทองน้อย จำนวน 1 ชุด (สำหรับประธานจุดบูชาพระธรรม)

  • เทียนส่องธรรม

  • ผ้าไตร หรือผ้าสำหรับทอดบังสุกุล

  • เครื่องไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์

 

อุปกรณ์เพิ่มเติมสำหรับ พิธีทำบุญครบรอบวันตาย

  • อัฐิ / รูปผู้ตาย / ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ

  • ภูษาโยง แถบทอง

  • โต๊ะหมู่อีก ๑ ชุด ใช้เป็นที่บูชาอัฐิ

  • ผ้าสำหรับทอดบังสุกุล

  • เครื่องทองน้อย

การบรรจุศพ/การฝังศพ/การออกสุสาน (กรณีไม่ได้ฌาปนกิจ)

  • การบรรจุศพ ณ ศาลาที่ตั้งบำเพ็ญกุศลศพสวดพระอภิธรรมวัดนั้น นิยมเริ่มประกอบพิธีบรรจุศพต่อจากที่ได้บำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมคืนสุดท้าย หรือเริ่มประกอบพิธีบรรจุศพต่อจากที่ได้บำเพ็ญกุศลอุทิศ ทำบุญครบ 7 วัน เมื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเสร็จแล้ว

  • การบรรจุศพ ณ สุสานของวัดที่ตั้งศพบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม นิยมเริ่มประกอบพิธีบรรจุศพต่อจากได้บำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมคืนสุดท้าย หรือนิยมเริ่มประกอบพิธีบรรจุศพต่อจากได้บำเพ็ญกุศลอุทิศศพ ครบ 7 วัน เมื่อประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลเสร็จแล้ว ให้ทำพิธีบรรจุต่อไปทันที โดยนิมนต์พระสงฆ์นำศพไปยังสุสานบรรจุศพ 1 รูป

    การเตรียมการ อุปกรณ์เครื่องใช้ในพิธีบรรจุศพ

    • ผ้าไตร หรือผ้าสบง อย่างน้อย 1 ผืน

    • ก้อนดินเล็ก ๆ ห่อด้วยผ้าสีดำ หรือห่อด้วยกระดาษสีดำ มีจำนวนมากเพียงพอกับผู้ร่วมพิธี (คนละ 1 ก้อน)
    • ดอกไม้สด ส่วนมากนิยมดอกกุหลาบ จำนวนเพียงพอกับผู้ร่วมพิธี (คนละ 1 ดอก)
    • ธูป นิยมใช้ธูปหอม มีจำนวนมากเพียงพอกับผู้ร่วมพิธี (คนละ 1 ดอก)
    • กระถางธูป ขนาดใหญ่ จำนวน 1 ใบ

 

แนวทางการปฏิบัติพิธีบรรจุศพ

  1. อัญเชิญศพเข้าสู่ที่บรรจุศพ (บางสถานที่นิยมตั้งศพบำเพ็ญกุศลก่อนแล้ว จึงอัญเชิญศพ
    เข้าสู่ที่บรรจุศพ)

  2. เจ้าภาพมอบก้อนดิน 1 ก้อน ดอกไม้สด 1 ดอก และธูปที่จุดแล้ว 1 ดอก ให้แก่ผู้ร่วมพิธีบรรจุศพจนครบทุกคน

  3. เจ้าภาพเชิญผู้มีเกียรติที่มาร่วมพิธีและเป็นผู้ที่เคารพนับถือเป็นประธานบรรจุศพ

  4. ประธานพิธีหรือเจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุลไว้บนหลังหีบศพ

  5. พระสงฆ์พิจารณาผ้าบังสุกุล

  6. ประธานเริ่มพิธีบรรจุศพด้วยการวางก้อนดิน และดอกไม้สด ณ สถานที่บรรจุศพนั้น แล้วถือธูปประนมมือยกขึ้นไหว้ตามฐานะของผู้ตาย ถ้าผู้ตายอายุมากกว่าให้หัวแม่มือจรดปลายจมูกแต่ถ้าผู้ตายอายุน้อยกว่าให้หัวแม่มือจรดปลายคาง อธิษฐานในใจว่า “ขอจงอยู่ เป็นสุข ๆ เถิด” แล้วปักธูปไว้ ณ กระถางธูปที่จัดเตรียมไว้

  7. เจ้าภาพนิยมนำเงินเหรียญ 1 บาท หรือเหรียญ 5 บาท จำนวน 1 เหรียญ เป็นอย่างน้อย วางลง ณ สถานที่บรรจุศพนั้นพร้อมนึกในใจว่า “ข้าแต่ท่านผู้เป็นเจ้าของที่ ข้าพเจ้าขอมอบเงินนี้เป็นค่าที่อยู่ให้แก่ศพนี้” เป็นเสร็จพิธีบรรจุศพ

  8. ในการประกอบพิธีบรรจุศพนี้ บางท้องถิ่นนิยมมีการโปรยทานด้วย เพื่อเป็นการบำเพ็ญ ทาน ซึ่งถือเป็นการกุศลอีกส่วนหนึ่ง อันเป็นการส่งเสริมเพิ่มเติมบุญบารมีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มีมากยิ่งขึ้นในคติวิสัยสัมปรายภพนั้น

ความเข้าใจพื้นฐานของการจัดงานศพ

การจัดงานศพ

จัดงานศพ วัดพระศรีมหาธาตุ.jpg

การให้ Funeral Plans (ฟิวเนอรัล แพลน) เป็นผู้ช่วยดำเนินการวางแผน และจัดเตรียมงานศพ จะช่วยแบ่งเบาความโศกเศร้าของครอบครัว ช่วยลดขั้นตอนการติดต่อ มีผู้คอยให้คำแนะนำ มีคนช่วยจัดงานให้ลุ่ล่วงตามขนบธรรมเนียมประเพณี ตามพิธีทางศาสนา ทำให้ท่านคลายความเหนื่อยล้า และคลายความกังวล

นอกเหนือจากธรรมเนียมปฎิบัติ และความเชื่อทางศาสนาแล้ว การจัดงานศพยังถือเป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่จัดขึ้นเพื่อสร้างโอกาสให้สมาชิกภายในครอบครัว, เพื่อนๆ หรือบุคคลอื่นอันเป็นที่รักที่มีความเกี่ยวข้อง ได้รับทราบถึงการจากไป ได้ร่วมแสดงความอาลัย และเป็นโอกาสในการให้กำลังใจกันและกันนอกจากนี้การจัดงานศพยังเป็นเหตุการณ์ที่ช่วยทำให้ครอบครัวยอมรับถึงการจากไป และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าได้

ทั้งนี้เราทุกคนสามารถวางแผนล่วงหน้าเพื่อจัดเตรียมงานศพของตัวเอง หรือคนในครอบครัวได้ตามความต้องการ ซึ่งสามารถเตรียมการเอง หรือให้ Funeral Plans (ฟิวเนอรัล แพลน) เป็นผู้ช่วยในการวางแผนล่วงหน้า และจัดพิธีให้ตามความต้องการ หรือท่านสามารถจัดพิธีศพเองก็ได้

นอกจากนี้ยังไม่มีใครสามารถกำหนดได้ว่าจะเสียชีวิต และเริ่มจัดงานศพได้เมื่อไหร่ หากมีผู้เสียชีวิตแล้ว ย่อมมี สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อมีคนเสียชีวิต ตามมามากมายและต้องรีบดำเนินการในระยะเวลากระชั้นชิด ตั้งแต่ การขอใบมรณบัตร ตลอดจนพิธีทางศาสนา ได้แก่ ขั้นตอนพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรม และ ฌาปนกิจ เป็นต้น

รับฟรี

แบบฟอร์มและคู่มือในการเตรียมงานศพ

ขอร่วมแสดงความเสียใจในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และเราจะจัดส่งแบบฟอร์มกลับไปให้อย่างเร็วที่สุด

การเตรียมการ ก่อนเริ่มพิธีทางศาสนา

การปูลาดสถานที่
การจัดปูลาดพื้นที่ด้วยเครื่องปูลาด เช่น พรมหรือเสื่อ สำหรับจัดเป็นอาสนสงฆ์และ ที่สำหรับแขกที่มาร่วมงาน การปูลาดสถานที่ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและความสวยงามด้วย ถ้าเครื่องปูลาดมีมาก สามารถปูให้เต็มสถานที่ที่ประกอบพิธีได้ ควรเลือกคัดดูสี สัณฐาน ลวดลายและขนาดให้เหมาะสม การปูให้ปูลำดับลดหลั่นกันไป คือ การปูลาดตรงบริเวณรอยต่อระหว่างพรหมหรือเสื่อ ต้องให้ด้านสูงทับด้านต่ำ อย่าให้ด้านต่ำทับด้านสูง ให้กำหนดทางด้านพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ประดิษฐานอยู่เป็นด้านสูง เพราะตามคตินิยมโดยทั่วไป เป็นการแสดงถึงความเคารพนับถือของสังคมไทย ผู้ใหญ่นั่งสูงกว่าผู้น้อย ผู้น้อยไม่นั่งสูงกว่าผู้ใหญ่ พระภิกษุนั่งตามลำดับอาวุโส คือ พรรษาหรือสมณศักดิ์ แล้วแต่กรณีของงานพิธีนั้น 
 

การตั้งโต๊ะหมู่บูชาในงานสวดอภิธรรม

การตั้งโต๊ะหมู่บูชาหน้าศพลักษณะนี้ ไม่มีรูปแบบการจัดที่แน่นอน เพียงแต่จัดเพื่อประดับดอกไม้ให้ดูสวยงาม ส่วนการบูชาจะใช้เครื่องทองน้อยหรือกระถางธูป เชิงเทียนก็ได้ตามแต่จะจัดหาได้โดยสะดวกไม่เดือดร้อน หากเป็นศพที่อยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ หรือการจัดงานที่เป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของพระสงฆ์นิยมตั้งเครื่องทองน้อย 2 ชุด

สำหรับบูชาศพชุดหนึ่ง และสำหรับจุดแทนศพเพื่อบูชาธรรมอีกชุดหนึ่ง ใช้โต๊ะหมู่ ๒ ตัว สูงต่ำลดหลั่นกันลงมา ตัวสูงวางด้านในใช้วางเครื่องทองน้อยสำหรับศพบูชาธรรม ตัวต่ำอยู่ด้านนอก สำหรับเจ้าภาพจุดเพื่อสักการะศพ การตั้งเครื่องทองน้อยนั้นมีข้อสังเกต คือ จะบูชาสิ่งใด ให้หันดอกไม้ไปทางนั้น ส่วนการจัดโต๊ะหมู่บูชา อัฐิ รูปภาพ ป้ายชื่อ รูปหล่อ ในการทำบุญอุทิศให้จัดลักษณะเดียวกัน


ในงานศพทั่วไป ที่บูชามักมี 2 ประเภท คือ
 

  1. ที่บูชาสาธารณะ - สำหรับบุคคลทั่วไปจุดบูชาศพ นิยมใช้กระถางธูปขนาดใหญ่ จุดบูชาได้ตลอดเวลา ปัจจุบันในส่วนกลางศาลาสวดอภิธรรมศพจะเป็นห้องปรับอากาศ ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียนบูชาสาธารณะในศาลา เพียงแต่เข้าไปสักการะหรือกราบศพโดยไม่ต้องจุดธูปเทียนแต่ถ้าเจ้าภาพต้องการให้มีจะจัดตั้งไว้ภายนอกศาลา

  2. ที่บูชาในพิธีการ - ประธานพิธีหรือเจ้าภาพจุดบูชาหรือสักการะศพ หลักจากประธานจุดเทียนบูชาพระธรรม เบื้องหน้าพระสงฆ์ พระอภิธรรม

การตั้งพัดยศสมณศักดิ์และพัดรอง
การจัดที่ตั้งพัดยศสมณศักดิ์และพัดรอง ให้ตั้งไว้ถัดลงมาจากโต๊ะหมู่บูชา ก่อนพระสงฆ์ เนื่องจากพัดยศสมณศักดิ์เป็นการแสดงถึงฐานันดรของพระสงฆ์รูปนั้น ๆ ซึ่งการตั้งพัดรองหรือ ตาลปัตรก็พึงตั้งในลักษณะเดียวกับการตั้งพัดยศ สมณศักดิ์ เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้นให้พึงจำว่า พัดยศสมณศักดิ์หรือพัดรองให้ตั้งถัดจากโต๊ะหมู่บูชา

การวงสายสิญจน์
การวงสายสิญจน์ให้เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา ลงด้านหลังพระพุทธรูปแล้ว ให้วงที่ฐานพระพุทธรูปหรือขอบโต๊ะหมู่ตัวที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโดยเวียนขวา 3 รอบ ให้เหลือกลุ่มสายสิญจน์สำหรับพระสงฆ์ถือใส่พานวางไว้ด้านหน้าประธานสงฆ์ ควรวางพานรองสายสิญจน์ไว้ท้ายอาสน์สงฆ์ด้วย สำหรับในงานพระราชพิธี พระราชกุศล หรืองานเสด็จพระราชดำเนิน ให้วงที่ขอบโต๊ะหมู่ตัวที่ประดิษฐานพระพุทธรูปแล้วผูกยึดที่หลักพัดยศสมณศักดิ์หรือพัดรอง เหลือกลุ่มสายสิญจน์สำหรับพระสงฆ์ถือใส่พานวางไว้ด้านขวาหรือด้านซ้ายมือประธานสงฆ์

การเดินสายโยงหรือแถบทอง
การเดินสายโยงหรือแถบทองหรือสายโยง เป็นสิ่งที่โยงมาจากศพ อัฐิ ภาพถ่าย ป้ายอุทิศ ให้เดินชิดฝาผนัง ถ้าเดินผ่านโต๊ะหมู่บูชา ให้ผ่านด้านหลังโต๊ะหมู่บูชา และให้เดินต่ำกว่าพระพุทธรูป ควรระวังไม่ให้สายโยงหรือแถบทองนั้นเกาะหรือเกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชา ควรเดินให้ชิดไปทางประธานสงฆ์แล้วเชื่อมต่อที่พานภูษาโยง ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างประธานสงฆ์ ภูษาโยงนั้น ศาสนพิธีกร ควรวัดความยาว เมื่อลาดตั้งแต่ต้นอาสน์สงฆ์ถึงพระสงฆ์รูปสุดท้ายให้พอดี ทำเครื่องหมายไว้ว่าจะยกภูษาโยงลงมาจากพานเพื่อตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าประธานสงฆ์ให้พอดีกับการทอดผ้าบังสุกุล

การตั้งครอบหรือภาชนะทำน้ำพระพุทธมนต์
ภาชนะใส่น้ำสำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ ปัจจุบันนิยมใช้ครอบสำริดทองแดง หรือ ทองเหลือง หากไม่มีสามารถใช้บาตรหรือขันแทนได้ ภายในใส่น้ำสะอาด และติดเทียนบริเวณฝาครอบสำหรับประธานจุดเพื่อถวายประธานสงฆ์ทำน้ำพระพุทธมนต์ไว้ให้เรียบร้อย เมื่อประธานสงฆ์เข้านั่งประจำอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว จึงนำครอบน้ำมนต์หรือภาชนะใส่น้ำวางไว้เบื้องหน้าประธานสงฆ์ สำหรับเทียนทำน้ำพระพุทธมนต์ ควรใช้เทียนขี้ผึ้งแท้ นิยมใช้เทียนขนาดน้ำหนัก 1 บาท หรือ ตามความเหมาะสม

การจัดเครื่องรับรองพระสงฆ์
ส่วนที่ต้องเตรียมเครื่องรับรองสำหรับพระสงฆ์ ประกอบด้วยเครื่องรับรองหลัก ดังนี้ น้ำร้อน น้ำเย็น ภาชนะใส่น้ำดื่มไว้ถวายพระสงฆ์ สิ่งที่ขาดไม่ได้อีกอย่างหนึ่งคือ กระโถน ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากพระสงฆ์เมื่อนั่งในพิธีกรรม ไม่สามารถลุกเพื่อจะนำสิ่งที่ไม่ใช้แล้วไปทิ้งที่อื่นได้ สำหรับการจัดตั้งเครื่องรับรองพระสงฆ์นั้น ให้ตั้งกระโถน น้ำร้อน น้ำเย็น โดยตั้งกระโถนเป็นหลักไว้ด้านใน ระวังอย่าให้ล้ำไปด้านหลังหรือออกมาด้านนอกมากนัก ให้พระสงฆ์หยิบใช้ได้สะดวก และควรตั้งให้เป็นแนวตรงกันทั้งด้านขวาง ด้านยาว เมื่อพระสงฆ์เข้านั่งที่ประจำยังอาสน์สงฆ์เรียบร้อยแล้ว ให้ประเคนน้ำร้อน น้ำเย็นให้เรียบร้อย

เครื่องไทยธรรมสำหรับถวายพระสงฆ์
เมื่อพระสงฆ์ได้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเรียบร้อยแล้ว เจ้าภาพมักจะมีการถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ ดังนั้น ควรมีการจัดเตรียมเครื่องไทยธรรมไว้ด้านท้ายอาสน์สงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำเครื่องไทยธรรมมาวางไว้เบื้องหน้าพระสงฆ์ในพิธีทุกรูป แล้วเชิญประธานหรือเจ้าภาพประเคนพระสงฆ์

ภาชนะสำหรับกรวดน้ำ
การกรวดน้ำเป็นการอุทิศแผ่ส่วนบุญกุศลที่ตนได้บำเพ็ญ ส่งไปให้แก่บุรพชนตลอดจน สรรพสัตว์ทั้งปวง เป็นการอธิษฐานใจในสิ่งที่ประสงค์ให้สำเร็จตามความปรารถนา ผู้เป็นศาสนพิธีกรจะต้องตรวจสอบภาชนะสำหรับใส่น้ำกรวดให้เรียบร้อย แล้วจัดตั้งไว้ท้ายอาสน์สงฆ์เช่นเดียวกับเครื่องไทยธรรม

เชิงเทียนและเทียนชนวน
เป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เป็นประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ ในการจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ผู้เป็นศาสนพิธีกรจะต้องจัดเตรียมให้เรียบร้อย ดูการติดเทียนเข้ากับเชิงเทียนให้แน่น เพราะอาจหลุดจากเชิงเทียนได้ จัดเตรียมไว้ท้ายอาสน์สงฆ์ เมื่อถึงเวลางานพิธีจะได้จุดแล้วนำไปมอบให้ประธานหรือเจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

การทาเชื้อชนวน ธูป เทียน
การทาเชื้อชนวนธูป เทียน เพื่อต้องการให้สิ่งที่จุดบูชานั้น ติดไฟง่าย ดังนั้น เมื่อประธานจะจุดบูชาสิ่งใด ศาสนพิธีกรควรเตรียมทาเชื้อชนวนธูป เทียน หรือสิ่งที่จะจุดให้เรียบร้อยก่อนถึงเวลาพิธีตามกำหนดการประมาณไม่เกินครึ่งชั่วโมง หากเตรียมไว้นานเกินไปจะทำให้จุดติดช้า

การจัดเตรียมเวลาในพิธีการ
งานที่เป็นทางการ ควรมีการกำหนดรูปแบบที่ชัดเจน เพื่อให้มีการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง มีการกำหนดเวลาในแต่ละขั้นตอนของงานที่แน่นอน ดังนั้น เรื่อง เวลา ถือเป็นสิ่งสำคัญ ศาสนพิธีกรจะต้องจัดลำดับเวลาของพิธีการนั้นๆ ให้เหมาะสม ไม่เกิดการสะดุดหรือรอคอยเวลาอันเป็นการแสดงให้เห็นความบกพร่องของผู้ดำเนินการ เพราะบางพิธีเป็นเวลาบังคับ เช่น เวลาฤกษ์ เวลาพระสงฆ์ฉันภัตตาหาร เป็นต้น ซึ่งผู้ดำเนินการหรือศาสนพิธีกรควรคำนึงถึงเวลาแต่ละขั้นตอนว่า ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ดังนั้น จึงควรจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพื่อความสะดวกในการกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของพิธี ดังนี้
 

  1. เวลาเริ่มต้นพิธี ตั้งแต่ผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน

  2. เวลาที่ประธานจะเดินทางมาถึง จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และเริ่มเข้าสู่พิธีการ

  3. เวลาพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ สวดพระพุทธมนต์ หรือแสดงพระธรรมเทศนา

  4. เวลาของพิธี ที่มีฤกษ์เริ่มต้น และสิ้นสุดแห่งฤกษ์ เช่น พิธีวางศิลาฤกษ์ เปิดอาคาร

  5. เวลาที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหาร

  6. เวลาสิ้นสุดของงาน


การเตรียมเวลานี้ เมื่อคำนวณและกำหนดเวลาแล้ว ให้ระบุไว้ในกำหนดการ และผู้ดำเนินการควรมีความรู้ในเรื่องพิธีแต่ละขั้นตอนด้วย เพื่อนำมาปรับให้ยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้การปฏิบัติพิธีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เรียบร้อย และสวยงาม

ตัวอย่าง กำหนดการบำเพ็ญกุศล

ตัวอย่างกำหนดการ.jpg

ตัวอย่าง กำหนดการสวดพระอภิธรรม บำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจ


คุณพ่อ/คุณแม่ ...........................
ศาลา........... วัด........................
ที่อยู่.............../ แผนที่ (google map)


กำหนดการ


วันที่ ...........เดือน........... พ.ศ. .............  
เวลา ............ น. เริ่มพิธีรดน้ำศพ
เวลา ............ น. สวดพระอภิธรรม 
    
วันที่ ...........เดือน...........
 พ.ศ. .............    
เวลา
............ น. สวดพระอภิธรรม 
    
วันที่ ...........เดือน...........
 พ.ศ. .............    

เวลา ............ น. สวดพระอภิธรรม
    
วันที่ ...........เดือน........... พ.ศ. .............
เวลา
............ น. ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ 10 รูป
เวลา
............ น. พระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา
เวลา
............ น. เคลื่อนย้ายสู่พระเมรุ
เวลา
............ น. สวดมาติกาและพิจารณาผ้าบังสุกุล
เวลา
............ น. ประกอบพิธีฌาปนกิจ
    
วันที่ ...........เดือน........... พ.ศ. .............
เวลา
............ น. เก็บอัฐิ
เวลา
............ น. ลอยอังคาร ณ ..........

กำหนดการ

กำหนดการ คือ เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อบอกลักษณะของงาน ว่า จะต้องทำอะไร ใครเป็นประธาน สถานที่ วัน เวลา ในการจัดงาน ลำดับขั้นตอนของงาน การแต่งกาย เพื่อให้ผู้ที่ร่วมในพิธีมีความเข้าใจตรงกันและทราบขั้นตอนพิธี

ประธาน

ควรแจ้งกำหนดการของพิธีให้ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานได้ทราบ โดยบุคคลที่เจ้าภาพเชิญมาเป็นเกียรติแก่งานพิธี เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีจะมีได้ทั้ง

  • แบบเป็นทางการ คือ มีการเชิญโดยแจ้งให้ผู้ที่เป็นประธานทราบล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ และ

  • แบบไม่เป็นทางการ คือ การเชิญผู้ที่มาร่วมงานทำหน้าที่เป็นประธาน โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ
    ล่วงหน้า

พิธีกร

จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการพิธีทางศาสนา ซึ่งมีความรอบรู้ในด้านพิธีการต่าง ๆ ทำหน้าที่ควบคุม ปฏิบัติการ จัดการ และประสานงานระหว่างผู้ร่วมปฏิบัติงานพิธี ตลอดจนให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาในการดำเนินกิจกรรมพิธีทางพระพุทธศาสนาได้อย่างชัดเจนและถูกต้องตามโบราณประเพณีที่ได้มีการสืบทอดกันมา

ผู้ร่วมงาน

เจ้าภาพควรประมาณจำนวนผู้ที่รับเชิญมาร่วมกิจกรรมให้เหมาะสมกับสถานที่ และดูแลความเรียบร้อยด้านต่างๆ ได้แก่

  • กำหนดผู้ที่คอยต้อนรับผู้มาร่วมงาน

  • กำหนดสถานที่นั่งสำหรับผู้เป็นประธาน

  • กำหนดที่นั่งสำหรับผู้รับเชิญท่านอื่นๆ

  • เตรียมเสริฟอาหาร น้ำ หรือ ของว่าง

  • เตรียมของที่ระลึก

การสวดพระอภิธรรม จำเป็นหรือไม่?

อภิธรรม หมายถึง ธรรมที่ยิ่งใหญ่
การที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยนำเอาคัมภีร์พระอภิธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเพณีการจัดงานศพ โดยการจัดให้มีการสวดพระอภิธรรมในงานศพ หรือสวดหน้าศพ จนเกิดเป็นประเพณีนิยมสืบต่อยึดถือกันมาช้านานตั้งแต่โบราณนั้น สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพื่ออุทิศให้ผู้วายชนม์นั้น ก็ให้เกิดความสงสัยแก่บางท่าน ที่ว่า ทำไมต้องมีการสวดพระอภิธรรม ในงานศพ และทาง funeral plan (รับจัดการงานศพ) ได้ทำการรวบรวมข้อสันนิษฐานจากหลากหลายแหล่งความรู้ มาเรียบเรียงและนำเสนอไว้พอสังเขปดังนี้ 


ตามหลักฐานของท่านผู้รู้กล่าวไว้ว่า น่าจะมาจาก 3 เหตุผลหลักๆ ดังนี้

1. การสวดพระอภิธรรม (อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่) น่าจะเป็นการตั้งใจที่จะเผยแพร่คำสอน หรือ ความหมายอันเป็นเนื้อหาหลัก ของบทสวดพระอภิธรรมนั้นให้เข้ามาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญในพิธีกรรมงานศพ เพราะในการสวดพระอภิธรรม ความหมาย ไม่กล่าวถึงสัตว์ ไม่กล่าวถึงบุคคล ไม่มีตัวตน เรา เขา แต่ทรงจำแนกธรรมออกเป็นกุศล อกุศล และอัพยากฤต (ธรรมที่ไม่ใช่กุศลและไม่ใช่อกุศล) อันว่าด้วยเรื่อง กระจายสรีระกายซึ่งเป็นกลุ่มก้อนออกเป็นขันธ์ ๕ บ้าง อายตนะ ๑๒ บ้าง ธาตุ ๑๘ บ้าง อินทรีย์ ๒๒ บ้าง อัน เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยซึ่งต้องมีการเสื่อมสลายไปตามสภาวะมิสามารถตั้งอยู่ได้ตลอดไป  หรือขยายความให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า บทสวดหรือความหมายอันเป็นเนื้อหาหลักของบทสวด พยายามชี้ให้เห็นถึงสัจธรรมหรือความจริงของชีวิตที่ว่า จริงๆแล้ว เราคือก้อนเนื้อ กระดูก น้ำเลือด น้ำเหลือง, การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะความตายนั้น ไม่มีใคร สามารถหลีกพ้นไปได้ แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ เองก็ตามที และยังมีคำสอนในพระพุทธศนาที่เราชาวพุทธมักได้ยินบ่อยครั้ง คือพระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า “สัพพะทานัง ธัมมะทานัง ชินาติ” แปลว่า ธรรมทานชนะทานทั้งหมด  หรือถ้าแปลให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็คือ ผลบุญอันเกิดจากการให้ธรรมะแก่ผู้อื่นนั้น เป็นบุญใหญ่ เป็นบุญที่ส่งผลแรงและมากที่สุดในแง่ของการทำทานในรูปแบบต่างๆนั่นเอง เพราะการให้ทานด้วยปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิ่งของ หรือเงิน อาจจะไม่ได้ช่วยให้ผู้รับเป็นคนที่ดีขึ้นเลย อาจเพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือ ปัญหาบางอย่างในขณะนั้นให้ลุล่วงแล้วจบไป แต่การให้ธรรมเป็นทาน จะช่วยให้ผู้รับทานหรือคำสอนนั้น เป็นคนดีขึ้น มีการปฏิบัติตนที่ดีขึ้น เมื่อได้รับคำสอนและมีความเข้าใจเรื่องบาปบุญมากขึ้น ส่งผลให้เขาเบียดเบียนผู้อื่น น้อยลง ทั้งทางด้าน กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม และคำสอนยังจะช่วย ขัดเกลาและนำพาให้เขาเป็นคนดี สร้างบุญ สร้างกุศลมากขึ้น และเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติตน เพื่อให้สามารถหลุดพ้นไปสู่นิพพานได้ในที่สุด ผลอีกด้านของผู้ที่เราให้ธรรมะเป็นทานแก่เขา ก็จะยังก่อเกิดประโยชน์ต่อๆกันไป เมื่อมีผู้รับทานนั้น มีความเข้าใจในธรรมมะนั้นๆแล้ว ก็จะสามารถให้ธรรมะเป็นทานกับคนอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน เป็นการก่อเกิดคนดี ความดีเช่นนี้ต่อๆกันไปไม่รู้จบ จึงถือได้ว่า การให้ธรรมมะเป็นทานอันประเสริฐสูงสุด กว่าทานใดๆ เมื่อเป็นดังนั้น การสวดพระพระอภิธรรมในทุกๆคืนให้ผู้มาร่วมในงานศพได้ฟัง ก็คือการให้ธรรมมะ จึงนับได้ว่าเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นทานใหญ่ อย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา และเพื่อให้บุญหรือส่วนกุศลใหญ่นี้ถึงแก่ผู้ล่วงลับ เพื่อให้ไปสู่ภพภูมที่ดียิ่งๆขึ้นไปจากบุญกุศลในครั้งนี้

2. เป็นที่รู้และสั่งสอนสืบต่อกันมาว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้ปฏิบัติตอบแทนพระคุณพุทธมารดาของ ท่านโดยเสด็จขึ้นไปทรงแสดงพระอภิธรรมเทศนาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพุทธมารดาซึ่ง สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ดังนั้นท่านผู้เป็นบัณฑิตจึงได้ถือเป็น เป็นเยี่ยงอย่างที่สมควรจะต้องกฏิบัติตามเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นอีกสาเหตุของการนำเอาพระอภิธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในพิธีศพ และยังถือเป็นการแสดงออกถึงซึ่งความเคารพนับถือ ความรักความอาลัย และความกตัญญู ต่อผู้ล่วงลับ คือการจัดให้มีการแสดงธรรมชั้นสูงในพิธีศพ การสวดพระอภิธรรม จะนิยมสวดตั้งแต่วันแรกเริ่มที่ตั้งศพ และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องมีการสวดกันทุกคืนจนกว่าจะถึงวันฌาปนกิจหรือวันเผาศพ คือ 1 วัน  3วัน  5วัน 7วัน หรืออาจสวดถึง  100 วัน ในรายที่ต้องการเก็บศพผู้ล่วงลับไว้ให้ครบ 100 วัน แล้วจึงค่อยทำการ  ฌาปนกิจซึ่งก็ค่อนข้างมีให้เห็นบ่อยครั้งในปัจจุบัน 


3. เชื่อกันว่า พระอภิธรรมเป็นคำสอนขั้นสูงที่มีเนื้อหาละเอียดลึกซึ้ง เกี่ยวกับปรมัตถธรรม ๔ ประการ (ปรมัตถธรรม มี 4 ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน) หากนำมาแสดงในงานบำเพ็ญกุศลให้แก่ผู้วายชนม์แล้ว ผู้วายชนม์จะได้บุญมาก เช่นกัน 

 

เมื่อได้ทราบถึงเรื่องราวความเป็นมาขอการสวดพระอภิธรรม ตามที่ได้เรียบเรียงนำเสนอแล้วนั้น ผู้เรียบเรียงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านคงพอเข้าใจโดยสังเขป และหาตอบสำหรับคำถามในหัวข้อนี้โดยวิจรณญาณของท่านเอง ว่าการสวดพระอภิธรรมในงานศพ นั้น จำเป็นหรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้น อาจจะยังมีอีกหลายปัจจัยเป็นตัวแปรในการตัดสินใจสำหรับบางท่าน อาทิเช่น ความเชื่อ , แนวความคิดส่วนตัว,ปัจจัยทางด้าน เวลา งบประมาณค่าใช้จ่ายและหรือ ... รวมทั้งองค์ความรู้ในการดำเนินพิธีการโดยรวมตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพื่อเป็นการแสดงความไว้อาลัยและเป็นอนุสรณ์สุดท้ายแก่ผู้วายชนม์
 

bottom of page